เกร็ดความรู้ต่าง ๆ คงจะเป็นประโยชน์กับสหกรณ์

 


๑.ความหมายและลักษณะของนิติกรรม

นิติกรรม หมายความว่าอย่างไรนั้น กฎหมายได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๙ ซึ่งบัญญัติว่า “ นิติกรรม หมายความว่า การใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับสิทธิ”
จากบทบัญญัติดังกล่าวพออธิบายความหมายของนิติกรรม หมายความว่า การใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อเปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ1
หรือ หมายความว่า การกระทำในทางกฎหมายหรือการกระทำที่ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในทางกฎหมาย ซึ่งอาจมีทั้งนิติกรรมฝ่ายเดียว เช่น พินัยกรรม หรือนิติกรรมสองฝ่าย เช่น สัญญา2

ลักษณะของนิติกรรม
จากบทบัญญัติมาตรา ๑๔๙ สามารถอธิบายลักษณะของนิติกรรมได้ดังนี้
๑. เป็นการกระทำการ
นิติกรรมต้องมีลักษณะเป็นการกระทำการของบุคคล จึงจะเกิดนิติกรรมขึ้นได้ ลำพังการนิ่งของบุคคลจึงไม่อาจก่อให้เกิดนิติกรรมได้ต้องมีการกระทำของบุคคล ซึ่งได้ตัดสินใจ และสามารถให้บุคคลอื่นล่วงรู้ถึงเจตนา และความต้องการของบุคคลนั้น ๆ ได้ว่าต้องการหรือไม่ต้องการกระทำการใด ๆ และการกระทำในที่นี้ต้องเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในสิ่งที่ตนกระทำ ถ้าการกระทำนั้นเป็นการกระทำเพราะถูกสะกดจิตก็ไม่ถือเป็นการกระทำ
๒. เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
หมายถึง ต้องกฎหมายรับรองการกระทำ แต่ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายรับรองเป็นกรณี ๆ ไป เพราะโดยหลักแล้วเรามีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรที่ได้รับรองสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน คือ ปัจเจกชนมีเสรีภาพที่จะกระทำใด ๆ ได้ เช่นนี้แล้วบุคคลก็ย่อมที่จะกระทำการใด ๆ ได้ กฎหมายย่อมรับรองการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เสรีภาพดังกล่าวมิใช่ว่าไม่มีขอบเขตทีเดียว ขอบเขตที่ว่ามานี้อาจขัดต่อกฎหมายความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมใดที่กระทำโดยฝ่าฝืน นิติกรรมนั้นก็ไม่มีผลในทางกฎหมาย คือ กฎหมายไม่รับรองเพราะเป็นนิติกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
๓. ต้องทำโดยสมัครใจ นิติกรรมจะมีผลในทางกฎหมายหรือไม่นอกจากจะเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วการกระทำนั้นต้องทำโดยสมัครใจด้วย คือ บุคคลนั้นต้องกระทำนิติกรรมไปโดยการตัดสินใจของตนเอง ตัดสินใจที่จะกระทำเอง ไม่ใช่ว่ากระไปเพราะถูกบุคคลอื่น หลอกลวง ซึ่งในทางกฎหมายเรียกว่า กลฉ้อฉล การกระทำเพราะถูกบังคับ ข่มขู่ หรือการกระทำโดยเข้าใจผิด ซึ่งเมื่อมีปัจจัยด้งกล่าวมานิติกรรมนั้นก็จะไม่ถือว่าเป็นการกระทำโดยสมัครใจ เช่น นายเอก หลอกนายโท ว่าม้าที่ตนจะขายนี้เป็นม้าแข่งที่วิ่งเร็ว เคยได้ชนะเลิศมาหลายรายการแต่ความเป็นจริงม้าดังกล่าวเป็นม้าธรรมดา ทำให้นายโทตัดสินซื้อม้าตัวนี้ กรณีเช่นนี้จึงถือเป็นการกระที่มิได้สมัครใจ เพราะนายโทถูกหลอกลวง
นายดำ นำปืนมาขู่บังคับนายแกงให้ตัดสินใจซื้อนาฬิกา ทำให้นายแดงกลัว นายแดงจึงซื้อนาฬิกาเรือนนั้นไป กรณีเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่มิได้สมัครใจ เพราะเป็นการกระที่ถูกข่มขู่ เป็นต้น
๔. ต้องการก่อให้เกิดผลในทางกฎหมาย
การก่อให้เกิดผลในทางกฎหมายเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้นิติกรรมผูกพันผู้กระทำหรือไม่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเจตนาของบุคคลผู้ที่กระทำนิติกรรมว่าต้องการให้นิติกรรมนั้นเป็นผลทางกฎหมายหรือไม่ มีวัตถุประสงค์หรือเป็นหมายจริงจังที่จะให้เกิดผลหรือไม่ ถ้าลำพังทำเล่น ๆ ไม่ต้องการก่อให้เกิดผล สิ่งที่บุคคลนั้นกระทำก็จะไม่ก่อให้เกิดนิติกรรม
๕. เป็นผูกพันระหว่างบุคคล
ประเด็นนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่าการทำนิติกรรมทำจากบุคคล ความผูกพันทางกฎหมายหรือนิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น จึงเกิดระหว่างบุคคลเท่านั้น1
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๘ / ๒๕๔๒
หนังสือตักเตือนความประพฤติของลูกจ้างที่มาทำงานสาย มิใช่การทำนิติกรรมจึงไม่ต้องให้กรรมการบริษัทลงนามและประทับตราบริษัท
คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๘๒๖ / ๒๕๓๗
การทำเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาล ที่คู่ความตกลงกันให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่คู่ความทำกันเป็นข้อแพ้ชนะ มิได้มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อเปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๙

๖. ผลคือความเคลื่อนไหวในสิทธิ
ซึ่งอาจจะเป็นการก่อให้เกิดสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ โอนสิทธิ หรือระงับสิทธิ ซึ่งจะอธิบายพอสังเขปได้ดังนี้
๖.๑ ก่อให้เกิดสิทธิ การก่อให้เกิดสิทธินี้เป็นการก่อขึ้นมาใหม่ ซึ่งยังไม่มีสิทธิแต่เดิม เช่นการทำสัญญาซื้อขาย เมื่อทำสัญญาแล้วก็จะก่อให้เกิดสิทธิระหว่างบุคคลสองฝ่าย คือ ฝ่ายนี้มีสิทธิได้รับชำระราคา และอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิจะจะได้รับการส่งมอบสิ่งของ เป็นต้น
๖.๒ เปลี่ยนแปลงสิทธิ เป็นการเปลี่ยนแปลงสิทธิเดิมที่มีอยู่แล้วเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เช่น ในสัญญาเดิมกำหนดชำระเป็นเงินสด เมื่อถึงกำหนดชำระ ฝ่ายที่ชำระไม่มีเงินสด ขอชำระเป็นสิ่งของ เช่น ข้าวสาร น้ำตาลทราย หรืออย่างอื่น เป็นต้น (แต่กรณีนี้คู่สัญญาอีกฝ่ายต้องยอมรับด้วย)
๖.๓โอนสิทธิ คือ การโอนสิทธิที่เคยมีให้กับบุคคลอื่น เช่น การโอนสิทธิเรียกร้อง เป็นต้น
๖.๔ สงวนสิทธิ เป็นการสงวนสิทธิที่ตนเคยมีแล้วให้เกิดความมั่นคง เช่น การค้ำประกันจำนอง จำนำ
๖.๕ ระงับสิทธิ เป็นการระงับสิทธิที่ตนเคยมีหรือเคยก่อขึ้นไว้ เช่น การบอกเลิกสัญญา การบอกล้างโมฆียะกรรม
อย่างไรก็ตามนิติกรรมตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๔๙ นี้ หมายถึง นิติกรรมที่เกิดสมบูรณ์แล้ว เพราะนิติกรรมที่สมบูรณ์นั้นจะก่อให้เกิดผลในทางกฎหมาย เช่น การก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ หากนิติกรรมที่ทำเป็นนิติกรรมที่ไม่สมบูรณ์ก็จะไม่อยู่ในความหมายของมาตรา ๑๔๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิติกรรมที่เป็นโมฆะ แต่สำหรับนิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้น กฎหมายก็ให้ถือว่านิติกรรมนั้นสมบูรณ์อยู่จนกว่าจะมีการบอกล้าง นิติกรรมในความหมายของมาตรา ๑๔๙ ต้องเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์แล้ว ซึ่งเราจะต้องดำเนินการเป็นขั้น ๆ ดังนี้คือ
๑. พิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าเข้าลักษณะของนิติกรรมตามมาตรา ๑๔๙ หรือไม่ พิจารณาเฉพาะข้อเท็จจริงอย่างเดียว เพราะผลที่สุดนิติกรรมจะสมบูรณ์หรือไม่นั้นจะเป็นประเด็นในข้อกฎหมายต่อไป การพิจารณาในข้อเท็จจริงเป็นการพิจารณาว่านิติกรรมที่ได้ทำนั้นเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำหรือไม่ หากผู้กระทำนิติกรรมกระทำโดยไม่รู้สำนึก ก็จะไม่เกิดเป็นนิติกรรมในข้อเท็จจริงเลย หรือนิติกรรมนั้นได้กระทำโดยสมัครใจหรือไม่ หากนิติกรรมนั้นได้กระทำเพราะถูกกลฉ้อฉล ถูกข่มขู่ หรือทำโดยสำคัญผิด ดังนี้แล้วก็ถือว่าผู้กระทำนิติกรรมกระทำไปโดยขาดเจตนา จึงถือว่าขาดข้อเท็จจริงที่จะมีลักษณะของนิติกรรม เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเรียบร้อยแล้วปรากฏว่าข้อเท็จจริงมีลักษณะเป็นนิติกรรมแล้ว ก็ต้องพิจารณาในขั้นต่อไป คือ พิจารณาข้อกฎหมาย
๒. การพิจารณาข้อกฎหมาย เป็นการพิจารณาว่าข้อเท็จจริงที่ผ่านมาเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์หรือไม่ หากในทางกฎหมายไม่สมบูรณ์ เพราะวัตถุประสงค์แห่งนิติกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือนิติกรรมนั้นไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำตามแบบ นิติกรรมดังกล่าวก็จะตกเป็นโมฆะ
นิติกรรมที่เป็นโมฆะ จะไม่ก่อให้เกิดผลใด ๆ เลยในทางกฎหมาย เป็นนิติกรรมที่สูญเปล่ามาตั้งแต่แรก ส่วนนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆียะนั้น นิติกรรมจะก่อให้เกิดผลในทางกฎหมายได้จนกว่าจะมีการบอกล้างโมฆียะกรรม เมื่อมีการบอกล้างโมฆียะกรรมนิติกรรมดังกล่าวก็จะสั้น ผลตกเป็นโมฆะทันที
นิติกรรมที่เป็นโมฆะจึงเป็นนิติกรรมที่เกิดขึ้นในทางข้อเท็จจริงแล้วแต่มิได้เกิดขึ้นในทางกฎหมาย

๒. องค์ประกอบของนิติกรรม
จากบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๔๙ ที่ได้อธิบายลักษณะและความหมายของนิติกรรม แล้วมาแยกเป็นองค์ประกอบ จะได้องค์ประกอบ ๒ ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนแรกเป็นองค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญ ถ้านิติกรรมใดขาดองค์ประกอบในส่วนนี้แล้ว นิติกรรมก็จะไม่เกิดซึ่งองค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญก็ได้แก่ บุคล วัตถุประสงค์ แบบ เจตนา ส่วนองค์ประกอบส่วนที่สอง คือ องค์ประกอบเสริม เป็นองค์ประกอบของนิติกรรมที่ไม่จำเป็นต้องมีนิติกรรมก็เกิดขึ้นได้ ได้แก่ เงื่อนไข เงื่อนเวลา ซึ่งในเรื่ององค์ประกอบนี้มีรายละเอียดดังคำอธิบาย ต่อไปนี้
๒.๑ องค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญ
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าองค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญนั้น ถ้านิติกรรมใดขาดองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งในส่วนนี้แล้ว นิติกรรมนั้นก็จะไม่เกิดทีเดียว ในเรื่ององค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญนั้น ยังแยกอธิบายได้เป็นส่วน ๆ ซึ่งได้แก่
๑. องค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญของนิติกรรมเกี่ยวกับบุคคล นิติกรรมจะทำได้นั้น ต้องมีบุคคลที่จำทำก่อน เพราะฉะนั้นบุคคลจึงถือว่าเป็นองค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญประการแรก บุคคลอาจหมายถึงบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้วางหลักว่า บุคคลจะมีความสามารถในการใช้สิทธิได้อย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นบรรลุนิติภาวะ ซึ่งบุคคลจะบรรลุนิติภาวะได้ 2 กรณี คือ โดยอายุเมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์ตามมาตรา ๑๙ หรืออีกกรณีหนึ่ง คือ โดยการสมรสตามมาตรา ๒๐ ซึ่งการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา ๑๔๔๘ คือ ชายหญิงมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์ หรือชายหญิงอายุน้อยกว่า ๑๗ ปีบริบูรณ์ เมื่อการสมรสนั้นกระทำโดยได้รับอนุญาตจากศาล
ในการทำนิติกรรมต้องพิจารณาถึงบุคคลผู้ทำนิติกรรมด้วย เพราะนิติกรรมเป็นการกระทำการ บุคคลที่จะทำนิติกรรมนั้นต้องมีความรู้สำนึกในสิ่งที่บุคคลนั้นกระทำ สามารถดูแลผลประโยชน์ในการทำนิติกรรมของตนเองได้ หรืออาจเรียกว่ามีความสามารถนั่นเอง
๒. องค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับวัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์แห่งนิติกรรม หมายถึง ความประสงค์หรือความมุ่งหมายในการทำนิติกรรมของคู่กรณีในนิติกรรมนั้น การทำนิติกรรมต้องเป็นการกระทำที่มุ่งในการก่อนิติกรรมสัมพันธ์และความเคลื่อนไหวในกฎหมาย เพราะฉะนั้นในการทำนิติกรรมถ้าขาดวัตถุประสงค์แห่งนิติกรรมแล้ว นิติกรรมก็จะไม่เกิด อย่างไรก็ตามในการทำนิติกรรมจะต้องมีวัตถุประสงค์ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่วัตถุประสงค์นั้นต้องเป็นวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ผลจะเป็นอย่างไรนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๐ ซึ่งบัญญัติว่า “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

จากบทบัญญัติดังกล่าว สามารถแยกวัตถุประสงค์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ 4 กรณี ได้แก่
ก. วัตถุประสงค์ที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย
คือ วัตถุประสงค์ที่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นก็ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔๘๖ / ๒๕๔๔
เป็นเรื่องจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาให้โจทก์เช่าประทานบัตร โดยไม่ยื่นขออนุญาตต่อรัฐมนตรี หรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายทั้ง ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๕๐
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๒๔๙ / ๒๕๔๕
สัญญาจ้างระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง มีข้อตกลงที่ให้สิทธินายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐
ข.วัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย
วัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย คือ วัตถุประสงค์ที่เป็นไปไม่ได้1
การพ้นวิสัยกับเหตุสุดวิสัยต่างกัน เพราะเหตุสุดวิสัยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครสามารถจะป้องกันได้
การพ้นวิสัยมีลักษณะดังนี้
๑. ต้องเป็นการพ้นวิสัยอย่างเด็ดขาด
๒. ต้องเป็นการพ้นวิสัยกับทุกคนไม่ใช่พ้นวิสัยเฉพาะบางคน บางกลุ่มหรือเฉพาะผู้ที่จะต้องกระทำการตามนิติกรรมเท่านั้น
๓. ต้องเป็นเหตุการณ์ที่มีอยู่ขณะที่ทำนิติกรรม
๔. การพ้นวิสัยอาจเกิดจากเหตุการณ์ตามธรรมชาติหรือการพ้นวิสัยในทางกฎหมาย
ค. วัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ความสงบเรียบร้อยของประชาชน คือ ข้อห้ามซึ่งสังคมบังคับแก่เอกชน เพื่อสังคมจะได้ดำรงอยู่ได้เมื่อคุ้มครองปกป้องรักษาเอกชนซึ่งอยู่ในสังคมนั้นเอง1

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเรื่องความสงบเรียบร้อย2 ได้แก่
๑. ความสงบเรียบร้อยทางการเมือง การปกครอง เช่น การทำสัญญาตกลงยกเว้น หรือเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตย
๒. ความสงบเรียบร้อยทางครอบครัว
๓. ความสงบเรียบร้อยทางวิชาชีพ สำหรับวิชาชีพบางประเภท
๔. ความสงบเรียบร้อยทางเศรษฐกิจ
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๔๓ / ๒๕๔๕
เป็นสัญญาจ้างว่าความที่ผู้ว่าจ้างตกลงให้ค่าตอบแทนแก่ทนายความเป็นจำนวนร้อย ๓ ของมูลค่าของทรัพย์มรดก หรือจำนวนเงินที่ได้รับ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นสัญญาที่ทนายความเข้ามามีส่วนได้เสียทางทรัพย์สินในผลแห่งคดีของผู้ว่าจ้าง สัญญาจ้างว่าความนั้นจะไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย แต่ก็เป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพทนายความ เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๕๐
ง. วัตถุประสงค์ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
คือ นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดกับหลักทางจริยธรรม ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น สัญญาจ้างหญิงให้ตั้งครรภ์แทน สัญญาฆ่าคน เป็นต้น แต่นิติกรรมบางอย่างอาจแยกไม่ออกว่าเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจเข้าทั้งสองกรณีก็ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๗๕๙ / ๒๕๔๔
การตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยในขณะที่ตำลงทำสัญญานั้น ผู้ขายยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน และแม้การที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตนั้นถือเป็นการอันฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘๖ ข้อ ๑๐ ประกอบข้อ ๓๕ ก็ตาม ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นคนละส่วนกับสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาจะซื้อจะขายนั้นไม่ปรากฏว่ามีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งใด ๆ ตามกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา ๑๕๐

๓. องค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญของนิติกรรมเกี่ยวกับแบบ
แบบ คือ วิธีการในการแสดงเจตนาทำนิติกรรม1 ในการทำนิติกรรมบางกรณีกฎหมายบังคับให้ต้องทำตามแบบ เช่น การทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ถ้าหากฝ่าฝืนไม่ทำตามแบบที่กฎหมายบัญญัติไว้จะมีผลอย่างไร ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๒ ได้บัญญัติว่า “การใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ” ผลของนิติกรรมที่ไม่ทำตามแบบที่มีกฎหมายบังคับไว้ นิติกรรมนั้นจะเป็นโมฆะ

๔. องค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญของนิติกรรม เกี่ยวกับเจตนา
การทำนิติกรรมนั้นเมื่อมีบุคคลที่มากระทำนิติกรรม มีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการทำนิติกรรม มีวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดในการทำนิติกรรมแล้ว สิ่งสำคัญที่จะต้องมีที่จะขาดไม่ได้ คือ เจตนาในการทำนิติกรรม การทำนิติกรรมนั้นต้องทำโดยแสดงเจตนาออกมาเพื่อที่จะให้บุคคลอื่นรับรู้ถึงความต้องการของตนด้วย เพื่อที่บุคคลอื่นจะได้กระทำการหรืองดเว้นกระทำ หรือปฏิบัติตามได้ถูกต้อง

๒.๑ องค์ประกอบเสริม
องค์ประกอบเสริมของนิติกรรมเป็นองค์ประกอบของนิติกรรมที่ไม่จำเป็นต้องมี นิติกรรมก็เกิดขึ้นได้สมบูรณ์และมีผลในทางกฎหมาย องค์ประกอบเสริมเป็นองค์ประกอบที่ผู้ทำนิติกรรมกำหนดขึ้น เช่น เงื่อนไข เงื่อนเวลา ซึ่งการกำหนดเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลา จะมีอิทธิพลต่อความเป็นผลหรือไม่เป็นผลของนิติกรรมนั้น ๆ ในเรื่องเงื่อนไข เงื่อนเวลานั้นสามารถแยกอธิบายดังนี้
๑. เงื่อนไข
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๘๒ บัญญัติว่า “ข้อความใดอันบังคับให้นิติกรรมเป็นผลหรือสิ้นผลต่อเมื่อเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคต ข้อความนั้นเรียกว่าเงื่อนไข”
เงื่อนไข คือ เหตุการณ์ในอนาคตซึ่งไม่แน่นอน ซึ่งผู้ทำนิติกรรมนำมากำหนดเกี่ยวกับความเป็นผลหรือสิ้นผลของนิติกรรม2โดยมีลักษณะทางกฎหมาย คือ เป็นเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เหตุการณ์นั้นจะเกิดในอนาคตและเหตุการณ์นั้นต้องไม่แน่นอน ในขณะที่กำหนดเงื่อนไขนั้นไม่อาจคาดหมายได้อย่างแน่นอนว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดหรือไม่
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๘๓ บัญญัติว่า “นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับก่อน นิติกรรมนั้นย่อมเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับหลัง นิติกรรมนั้นย่อมสิ้นผลในเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
ถ้าคู่กรณีแห่งนิติกรรมได้แสดงเจตนาไว้ด้วยกันว่า ความสำเร็จแห่งเงื่อนไขนั้นให้มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาใดเวลาหนึ่งก่อนสำเร็จ ก็ให้เป็นไปตามเจตนาเช่นนั้น”
ตามมาตรานี้ได้วางหลักเกี่ยวกับผลของนิติกรรมที่มีเงื่อนไข คือ ถ้าเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ผลของนิติกรรมยังไม่เกิด ถ้าเป็นเงื่อนไขบังคับหลัง ผลของนิติกรรมเกิดขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ตามในระหว่างที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จ คู่กรณีฝ่ายที่อยู่ในบังคับแห่งเงื่อนไขจะต้องงดเว้นไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่ประโยชน์ของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง (มาตรา ๑๘๔)
ในเรื่องเงื่อนไขนอกจากที่กล่าวมาแล้ว พอสรุปสั้น ๆ ได้ดังนี้
- คู่กรณีมีสิทธิและหน้าที่อย่างไรก็สามารถจำหน่าย จะรับมรดก จัดการป้องกันรักษาหรือทำประกันไว้อย่างไรก็ได้ (มาตรา ๑๘๕)
- คู่กรณีมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตนตามหลักสุจริต (มาตรา ๑๘๖)
- ผลในกรณีที่ขาดเงื่อนไข เมื่อเป็นที่แน่นอนแล้วในเวลาทำนิติกรรมว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว ถ้านิติกรรมนั้นมีเงื่อนไขบังคับก่อนให้ถือว่านิติกรรมนั้นไม่มีเงื่อนไข ถ้าเป็นเงื่อนไขบังคับหลังให้ถือว่านิติกรรมเป็นโมฆะ (มาตรา ๑๘๗ วรรคแรก)
- นิติกรรมใดที่มีเงื่อนไขไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของของประชาชน นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ (มาตรา ๑๘๘)
- นิติกรรมที่มีเงื่อนไขเป็นการพ้นวิสัย ถ้าเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ (มาตรา ๑๘๙)
- นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับหลังและเงื่อนไขนั้นเป็นการพ้นวิสัย ให้ถือว่านิติกรรมนั้นไม่มีเงื่อนไข (มาตรา ๑๘๙ วรรคสอง)
๒. เงื่อนเวลา
เงื่อนเวลา หมายถึง ช่วงเวลาที่มีการเริ่มต้นหรือสิ้นสุดความเป็นผลของนิติกรรม มีลักษณะเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่แน่นอนแล้ว ซึ่งผู้ทำนิติกรรมได้กำหนดเกี่ยวกับการเริ่มต้นหรือการสิ้นสุดความเป็นผลของนิติกรรม
ผลของนิติกรรมที่มีเงื่อนเวลา
กรณีที่นิติกรรมมีเงื่อนเวลาเริ่มต้น ในระหว่างคอยให้ถึงเวลา ห้ามมิให้ทวงถามให้ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนถึงเวลาที่กำหนด
กรณีที่นิติกรรมมีเงื่อนเวลาสิ้นสุด เมื่อถึงเวลาแล้วนิติกรรมสิ้นผลตั้งแต่นั้นมาโดยไม่มีการย้อนหลัง
๓. ความไม่สมบูรณ์แห่งนิติกรรม
ความหมายของความไม่สมบูรณ์แห่งนิติกรรม
นิติกรรมที่ไม่สมบูรณ์ หมายถึง นิติกรรมที่มีความผิดปกติบางอย่างในการก่อนิติกรรมนั้นซึ่งโดยความผิดปกตินั้นทำให้กฎหมายไม่ยอมรับให้นิติกรรมดังกล่าวมีผลในทางกฎหมายเลย ดังเช่นกรณีของโมฆะกรรม หรือยอมรับให้มีผลในทางกฎหมายเพียงชั่วคราว จนกว่าจะมีการบอกล้างดังเช่นกรณีของโมฆียะกรรม1

นิติกรรมที่ไม่สมบูรณ์สามารถแยกได้ 2 กรณีคือ นิติกรรมที่เป็นโมฆะ และนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ
๑. นิติกรรมที่เป็นโมฆะ
ความหมายของนิติกรรมที่เป็นโมฆะ คือ เป็นนิติกรรมที่เกิดขึ้นในทางข้อเท็จจริง แต่มีองค์ประกอบบางอย่างมีความผิดปกติอย่างร้ายแรงถึงขนาดกฎหมายไม่ยอมรับรองให้เกิดผลในทางกฎหมายได้ กลายเป็นนิติกรรมที่เสียเปล่าไม่มีอยู่ในสายตาของกฎหมาย
สาเหตุที่ทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะ
กฎหมายได้กำหนดสาเหตุไว้หลายสาเหตุที่ทำให้นิติกรรมมาเป็นโมฆะ ความเป็นโมฆะของนิติกรรมเกิดโดยการที่กฎหมายบัญญัติกำหนดเท่านั้น ไม่ใช่เกิดเพราะเจตนาของผู้ทำนิติกรรม กฎหมายได้กำหนดสาเหตุนิติกรรมเป็นโมฆะ ได้แก่
ก. นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือมีวัตถุเป็นการพ้นวิสัย หรือวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือวัตถุประสงค์ขัดกับศีลธรรมอันดีของประชาชน (ตามมาตรา ๑๕๐)
ข. นิติกรรมมิได้ทำตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ (มาตรา ๑๕๒)
ค. นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาที่ไม่ตรงกับเจตนาในใจจริง โดยที่คู่กรณีอีกฝ่ายรู้ (มาตรา ๑๕๔)
ง. นิติกรรมที่เกิดจากเจตนาลวง โดยคู่กรณีสมคบกันทำขึ้นเพื่อลวงคนอื่น โดยที่มิได้มีเจตนาทำนิติกรรมเพื่อให้ผูกพันทางกฎหมาย (มาตรา ๑๕๕ วรรคแรก)
จ. นิติกรรมที่เกิดโดยการแสดงเจตนา ด้วยความสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม (มาตรา 156)
ฉ. นิติกรรมที่เป็นโมฆียะและถูกบอกล้างแล้ว (มาตรา ๑๗๖)
ช. นิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับหลังเมื่อเงื่อนไขสำเร็จแล้วตั้งแต่เวลาทำนิติกรรมหรือนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ไม่อาจสำเร็จได้ (มาตรา ๑๘๗)
ซ. นิติกรรมที่มีเงื่อนไขอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (มาตรา ๑๘๘)
ฌ. นิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนและเป็นเงื่อนไขอันจะสำเร็จหรือไม่ สุดแล้วแต่ใจของลูกหนี้เท่านั้น (มาตรา ๑๙๐)
ฎ. กรณีอื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้
คำพิพากษาฎีกา ๑๗๕๑ / ๒๕๓๖
เมื่อสัญญาตกเป็นโมฆะเพราะมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายแล้ว แม้ภายหลังต่อมาได้มีกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเดิมก็ไม่ทำให้สัญญาซึ่งเป็นโมฆะแต่ต้นเป็นสัญญาสมบูรณ์ขึ้น
ผลของนิติกรรมที่เป็นโมฆะ
ผลของนิติกรรมที่เป็นโมฆะ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๗๒ บัญญัติว่า “โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้
ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ”
อธิบายผลของนิติกรรมที่เป็นโมฆะพอสังเขป ดังนี้
๑. นิติกรรมนั้นเสียเปล่า คือ เป็นนิติกรรมที่ไม่มีผลใด ๆ ไม่ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในสิทธิและหน้าที่อย่างใด ๆ ซึ่งมีสภาพเช่นเดียวกับก่อนทำพินัยกรรม
คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๕๓๗ / ๒๕๔๔
สัญญาจำนองและสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินนั้นเป็นสัญญาที่คู่สัญญามิได้มุ่งผูกพันกันจริง จึงเป็นเพียงนิติกรรมอำพราง สัญญาจะซื้อจะขาย สัญญาจำนอง และสัญญาก่อตั้ง สิทธิเหนือพื้นดินจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๕๕ ส่วนสัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะตามมาตร ๑๕๐ ดังนั้นแม้ผู้จะซื้อจะขายไม่มีสิทธิสละสิทธิหรือโอนสิทธิครอบครองให้ผู้จะซื้อ ผู้จะซื้อจึงไม่ได้ไปซึ่งสิทธิครอบครอง
๒. ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะ “กล่าวอ้าง” ขึ้นก็ได้ กรณีที่นิติกรรมเป็นโมฆะ ผู้มีส่วนได้หรือส่วนเสียสามารถที่จะ “กล่าวอ้าง” ความเป็นโมฆะได้
๓. ให้สัตยาบันไม่ได้
๔. สิ่งที่ให้กันไปต้องคืนให้แก่กันตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๗๑๑ / ๒๕๔๔
เป็นเรื่องที่โจทก์จำเลยเจตนาจะทำสัญญาขายฝากที่ดิน ไม่เจตนาจะผูกพันตามสัญญาทางที่ดิน สัญญาขายที่ดินตกเป็นโมฆะเพราะเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมบูรณ์ระหว่างคู่กรณีตามมาตรา ๑๕๕ วรรคหนึ่ง สัญญาขายฝากก็เป็นโมฆะ เพราะไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด ลูกหนี้ต้องคืนทรัพย์สินให้กันฐานลาภมิควรได้

๒. นิติกรรมที่เป็นโมฆียะ
นิติกรรมที่เป็นโมฆียะ คือ นิติกรรมที่เกิดขึ้นในข้อเท็จจริงแล้ว แต่ยังมีความผิดปกติบางอย่างซึ่งเป็นความผิดปกติที่ไม่ร้ายแรงนัก กฎหมายจึงถือว่ายังสมบูรณ์อยู่จนกว่าจะมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ถ้ามีการบอกล้างโมฆียะกรรมแล้วนิติกรรมดังกล่าวก็จะสิ้นผล แต่กฎหมายยังให้โอกาสในการให้สัตยาบัน กรณีให้สัตยาบันนิติกรรมดังกล่าวก็จะสมบูรณ์เต็มรูปแบบ

สาเหตุของความเป็นโมฆียะ
สาเหตุที่กฎหมายกำหนดให้นิติกรรมเป็นโมฆียะมีหลายสาเหตุได้แก่
ก. ความสามารถ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๓ บัญญัติว่า “การใดมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคลการนั้นเป็นโมฆียะ”
ข. เจตนา
๑. ความสำคัญผิด
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๗ บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สินเป็นโมฆียะ
ความสำคัญผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าวการอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น”
๒. กลฉ้อฉล
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๙ บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาเพราะถูกฉ้อฉลเป็นโมฆียะ
การถูกฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น
ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น” เป็นการแสดงเจตนาในการทำนิติกรรมไปโดยความเข้าใจข้อเท็จจริงผิดไปจากความจริงซึ่งความเข้าใจผิดนั้นเกิดจากการ หลอกลวงของบุคคลอื่น

๓. การข่มขู่
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๔ บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ
การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น”


๔. เหตุอื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนด
ผลของนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ
๑. การบอกล้างโมฆียะกรรม
เนื่องจากนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ กฎหมายยังถือว่าสมบูรณ์อยู่จนกว่าจะมีการบอกล้าง เพราะฉะนั้นเมื่อใดมีการบอกล้างโมฆียะกรรมแล้วจะทำให้นิติกรรมดังกล่าวสิ้นผลทันที
๒. การให้สัตยาบัน
นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนอกจากกฎหมายจะให้สิทธิบอกล้างแล้ว กฎหมายยังให้สิทธิในการให้สัตยาบันด้วย เมื่อมีการให้สัตยาบันและจะทำให้นิติกรรมดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ตลอดไป

ความแตกต่างระหว่างนิติกรรมที่เป็นโมฆะ และนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ
๑. โมฆะกรรมเป็นเรื่องคุ้มครองส่วนได้เสียของประชาชน โมฆียะกรรมเป็นเรื่องคุ้มครองส่วนได้เสียระหว่างคู่กรณี
๒. โมฆะกรรมเป็นนิติกรรมที่เสียเปล่า ส่วนโมฆียะกรรมเป็นนิติกรรมที่กฎหมายถือว่าสมบูรณ์จนกว่าจะถูกบอกล้าง
๓. โมฆะกรรมให้สัตยาบันไม่ได้ ส่วนโมฆียะกรรมให้สัตยาบันได้
๔. ผู้ที่จะกล่าวอ้างโมฆะกรรมจะเป็นใครก็ได้ที่มีส่วนได้เสีย ส่วนโมฆียะกรรม ผู้ที่จะบอกล้างนั้นเฉพาะบุคคลที่ได้ระบุไว้ในมาตรา ๑๗๕
๕. การกล่าวอ้างโมฆะกรรมนั้นไม่มีกำหนดเวลา ส่วนการบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นมีกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๘๑
๖. โมฆะกรรมเรียกคืนทรัพย์สินฐานลาภมิควรได้ ส่วนโมฆียะกรรม คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมถ้าคืนไม่ได้ก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แทน